วิสัยทัศน์/พันธกิจ

วิสัยทัศน์/พันธกิจ 



วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม สมรรถนะหลักองค์กร และประเด็นยุทธศาสตร์
โรงพยาบาลขอนแก่นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ระดับตติยภูมิ หรือ ระดับ A (Advance - Level Referral Hospital) เป็นแม่ข่ายของเขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม (ร้อยแก่นสารสินธุ์) มีความเชี่ยวชาญในระดับบริการตติยภูมิและสาขาย่อย (Subspecialty Level Referral Hospital) ครอบคลุมทุกสาขา และมีศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง (Excellent Center) 4 สาขา ได้แก่ สาขาอุบัติเหตุสาขามะเร็ง สาขาหัวใจ และสาขาทารกแรกเกิด

 วิสัยทัศน์ (Vision) 

“ภายในปี 2020 เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำที่มีคุณภาพคู่คุณธรรม”

- โรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำ
หมายถึง  โรงพยาบาลขอนแก่นจัดอยู่อันดับ 1 ใน 5  เมื่อเทียบ (Benchmarking) หรือจัดอันดับ (Ranking) กับโรงพยาบาลศูนย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์

- คุณภาพ (Quality)
หมายถึง การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสม และลูกค้ามีความพึงพอใจ
ประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญ 10 ด้าน คือ ความเชื่อถือได้ การตอบสนองความต้องการ  ความสามารถ  การเข้าถึงได้  ความสุภาพ
การติดต่อสื่อสาร  ความน่าเชื่อถือ  ความปลอดภัย  ความเข้าใจลูกค้า และสามารถรู้สึกได้ในบริการ

- คุณธรรม (virtue)
ความหมายตามพจนานุกรมว่า "สภาพคุณงามความดี" หมายถึง หลักของความดี ความงาม ความถูกต้อง ซึ่งจะแสดงออกมาโดยการกระทำ ทางกาย วาจาและจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นหลักประจำใจในการประพฤติปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองผู้อื่น และสังคม

 พันธกิจ (Mission)

บริการด้านสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิตติยภูมิ และความเชี่ยวชาญระดับสูง
พัฒนาบริการระดับตติยภูมิ และความเชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาได้แก่ สาขาอุบัติเหตุ สาขามะเร็ง สาขาหัวใจและสาขาทารกแรกเกิด ให้เป็นแม่ข่ายระดับเขตสุขภาพ
พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
ร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 สมรรถนะหลักขององค์กร (Core competency)
การให้บริการระดับระดับตติยภูมิ และความเชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาได้แก่ สาขาอุบัติเหตุ สาขามะเร็ง สาขาหัวใจ และสาขาทารกแรกเกิด
เป็นแกนนำพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เครือข่ายบริการ เขตสุขภาพที่ 7
การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
การสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข
การร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

 ค่านิยม (Core value)

“บริการดุจญาติมิตร ซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใฝ่เรียนรู้และพัฒนา ทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ”

-บริการดุจญาติมิตร
บริการดุจญาติมิตร (Service mind) หมายถึง การบริการที่ดี แก่ลูกค้า (ผู้ป่วย/ญาติ/ผู้มาใช้บริการอื่น)ดุจญาติพี่น้องมิตรของเราเองหรือการทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ มีความสุข และได้รับผลประโยชน์ อย่างเต็มที่ผู้ให้บริการต้องมีจิตใจในการให้บริการที่ดี คือ ต้องมีใจรัก มีความเต็มใจในการบริการ แสดงออกทางกาย โดยความยิ้มแย้ม แจ่มใส มีอารมณ์รื่นเริง และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่ขึ้นเสียงกับประชาชนหรือผู้มารับบริการให้ความสะดวก ใช้วาจาไพเราะ ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ

-ซื่อสัตย์สุจริต
ซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) หมายถึง ความประพฤติดี ความประพฤติชอบ ประพฤติตรงและจริงใจไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกง และไม่หลอกลวง คนจะได้ชื่อว่ามีความซื่อสัตย์ต้องมีความจริง  5  ประการ คือ
จริงต่อการงาน  หมายถึง  ทำอะไรทำจริง  มุ่งให้งานสำเร็จเกิดประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวมได้จริงๆ
จริงต่อหน้าที่  หมายถึง  ทำจริงในงานที่ได้รับมอบหมาย  ซึ่งเรียกว่า หน้าที่  ทำงานเพื่องาน  ทำงานให้ดีที่สุด  ไม่เลินเล่อ  ไม่หละหลวม  ไม่หลีกเลี่ยงบิดพลิ้ว คือ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่  ต้องเอาใจใส่หน้าที่ให้งานสำเร็จเกิดผลดี
จริงต่อวาจา  หมายถึง  การพูดความจริง  ไม่กลับกลอก  รักษาวาจาสัตย์อย่างเคร่งครัดพูดจริงทำจริงตามที่พูด
จริงต่อบุคคล  หมายถึง  มีความจริงใจต่อคนที่เกี่ยวข้อง  ต่อมิตรและผู้ร่วมงาน จริงใจต่อเจ้านายของตน  เรียกว่า  มีความจงรักภักดี  จริงใจต่อผู้มีพระคุณ  เรียกว่า มีความกตัญญูกตเวที
จริงต่อความดี หมายถึง มุ่งประพฤติแต่ความดีจนติดเป็นนิสัย เป็นบุคคลที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ หิริ (ความละอายต่อบาป  ละอายใจต่อการทำชั่ว)  โอตตัปปะ (ความกลัวบาป  เกรงกลัวต่อความชั่ว)

-ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
หลักเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient economy) หมายถึง พระราชปรัชญาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อให้สังคมไทยมีชีวิตดำรงอยู่ได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์  หรือ  การเปลี่ยนแปลงใด ๆ บนพื้นฐานวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
3 ห่วง ประกอบด้วย
ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป  โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ความมีเหตุผล  หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
     2 เงื่อนไข ประกอบด้วย
เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน  มีความเพียร  ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

-ใฝ่เรียนรู้และพัฒนา
ใฝ่เรียนรู้และพัฒนา (Learning and Development) หมายถึง การเรียนรู้คือกระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด จากการได้ยินการสัมผัส การอ่าน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี การปฏิบัติที่ทำให้เกิดประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การพัฒนา  ซึ่งหมายถึงการทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ แนวทางปฏิบัติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆ

-ทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ
ทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary team) หมายถึง ทีมสหวิชาชีพ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ มีความรู้ ทักษะ และความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีระบบและเป็นกระบวนการ โดยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดียวกันในการปฏิบัติงาน โดยจะมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อการประเมินสภาพการณ์ของปัญหา และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งกระบวนการรูปแบบการทำงานเครือข่ายแบบทีมสหวิชาชีพ  แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบตามลักษณะการปฏิบัติงาน ดังนี้
Interdisciplinary คือ การประสานความร่วมมือจากหลายสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน โดยใช้วิธีการส่งต่อข้อมูล และประสานขอทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามกระบวนการต่างๆโดยไม่จำเป็นต้องมีการประชุมร่วมกัน
Multidisciplinary เป็นการประชุมทีมสหวิชาชีพ เพื่อปรึกษาหารือกันในการระดมความคิดเห็น และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ความท้าทายเชิงกลยุทธ์
การพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงและตติยภูมิขั้นสูงทุกสาขา ให้สามารถรองรับผู้ป่วยของเครือข่ายในเขตสุขภาพ รวมถึงรองรับสาธารณภัย โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ
การสร้างความเข้มแข็งให้โรงพยาบาลเครือข่ายโดยเฉพาะ Node และการสร้างระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกระดับอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่ดี
การเสริมพลังให้หน่วยบริการปฐมภูมิและชุมชนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อให้บริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจได้อย่างมีคุณภาพ
การจัดบริการให้ดีขึ้น ผู้ป่วยปลอดภัย และเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด
การสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ
การบริหารบุคลากรให้มีศักยภาพ เครื่องมือเพียงพอพร้อมใช้ มีเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบสนองความต้องการ อย่างมีประสิทธิภาพ

 ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issue) “ERE3B”
ยกระดับศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงและบริการตติยภูมิขั้นสูงสู่ความเป็นเลิศ เพื่อเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงของเครือข่ายบริการ เขตสุขภาพที่7 “Excellent Center & Super Tertiary Care Upgrading”
พัฒนาระบบส่งต่อและสร้างความเข้มแข็งให้โรงพยาบาลเครือข่าย เขตสุขภาพที่ 7 “Referral System &Network Strengthening”
สร้างความเข้มแข็งระบบบริการตติยภูมิสู่ปฐมภูมิมุ่งให้บริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ “Empowerment of Primary Care”
จัดบริการให้ดีขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพ “Better Service”
พัฒนาระบบบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “Better Management”
จัดการทรัพยากรขั้นพื้นฐานขององค์กรให้เข้มแข็ง“Back to Basic”